1. การเบิกจ่ายเงินกรณีกำลังพลปฏิบัติงานใน กอ.รมน.จังหวัด ได้รับค่าตอบแทน ตามคำสั่งให้ปฏิบัติงานภายในที่ตั้งหน่วยในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงดูหรือไม่ อย่างไร ?
ตอบ หลักเกณฑ์การเบิกเงินตอบแทน ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ พ.ศ. 2550 การปฏิบัติงานนอกเวลาราชการที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนอื่นของทางราชการสำหรับการปฏิบัติงานนั้นแล้ว ให้เบิกได้ทางเดียว
2. การเสนอความต้องการแผนงาน/โครงการ ของ นขต.กอ.รมน. จะต้องดำเนินการอย่างไร ?
ตอบ ให้หน่วยจัดทำความต้องการงบประมาณเพื่อเสนอเข้ารับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณจากคณะกรรมการ จสง.กอ.รมน. โดยให้เสนอความต้องการแผนงาน/โครงการตามสายการงบประมาณ ผ่านสำนักฝ่ายอำนวยการหลักในฐานะหน่วยรับผิดชอบงบประมาณหลัก เป็นผู้พิจารณาตรวจสอบและวิเคราะห์ความต้องการงบประมาณให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา แผนการปฏิบัติราชการระยะ 5 ปีและประจำปี ของ กอ.รมน. รวมถึงนโยบายของผู้บังคับบัญชาทุกระดับ และเสนอให้ สปง.กอ.รมน. ตามระยะเวลาที่กำหนด
3. การเบิกค่าตอบแทน/ค่าสมนาคุณวิทยากร มีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง ?
ตอบ 1) การฝึกอบรมที่มีลักษณะเป็นการบรรยายให้จ่ายค่าสมนาคุณวิทยากรได้ไม่เกิน 1 คน
2) ชั่วโมงการฝึกอบรมที่มีลักษณะเป็นการอภิปรายหรือสัมมนาเป็นคณะ ให้จ่ายค่าสมนาคุณวิทยากรได้ไม่เกิน 5 คน โดยรวมถึงผู้ดำเนินการอภิปรายหรือสัมมนาที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับวิทยากรด้วย
3) ชั่วโมงการฝึกอบรมที่มีลักษณะเป็นการแบ่งกลุ่มฝึกภาคปฏิบัติ แบ่งกลุ่มอภิปรายหรือสัมมนาหรือแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม ซึ่งได้กำหนดไว้ในโครงการหรือหลักสูตรการฝึกอบรมและจำเป็นต้องมีวิทยากรประจำกลุ่มให้จ่ายค่าสมนาคุณวิทยากรได้ไม่เกินกลุ่มละ 2 คน
4) ชั่วโมงการฝึกอบรมใดมีวิทยากรเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ตามข้อ 1 ถึง 3 ให้เฉลี่ยจ่ายค่าสมนาคุณวิทยากรไม่เกินภายในจำนวนเงินที่จ่ายได้ตามหลักเกณฑ์
5) การนับชั่วโมงการฝึกอบรมให้นับตามเวลาที่กำหนดในตารางการฝึกอบรม โดยไม่ต้องหักเวลาที่พักรับประทานอาหารว่างและเครื่องดื่ม แต่ละชั่วโมงการฝึกอบรมต้องมีกำหนดเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าห้าสิบนาที กรณีกำหนดเวลาการฝึกอบรมไม่ถึงห้าสิบนาทีแต่ไม่น้อยกว่ายี่สิบห้านาที ให้จ่ายค่าสมนาคุณวิทยากรได้กึ่งหนึ่ง
4. การรายงานการควบคุมภายใน ปัจจุบันปฏิบัติอย่างไร ?
ตอบ การรายงานให้ปฏิบัติตามหนังสือ สปง.กอ.รมน. ที่ นร.5106/648 ลง 13 พ.ค. 64 เรื่องหลักเกณฑ์การควบคุมภายในของ กอ.รมน. ซึ่ง สปง.กอ.รมน. ได้แจกจ่ายให้ นขต.กอ.รมน. ทราบแล้ว
5. กอ.รมน. จังหวัด จัดการอย่างไรกับการจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงของ กอ.รมน. ?
ตอบ การจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงจะจัดทำระดับ กอ.รมน. เท่านั้น สำหรับ กอ.รมน. จังหวัด ให้ดำเนินการวิเคราะห์ความเสี่ยงของหน่วยเพื่อจัดทำแบบการควบคุมภายในตามที่ กอ.รมน. กำหนด โดยไม่ต้องจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยง
6. ทำไมต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยง ?
ตอบ ตามหลักเกณฑ์ กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับหน่วยงานของรัฐกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องมีการบริหารจัดการความเสี่ยง จึงต้องดำเนินการทุกระดับของหน่วยงานรัฐอย่างน้อยประกอบไปด้วย การระบุความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง และการตอบสนองความเสี่ยง รวมทั้งจัดให้มีผู้รับผิดชอบมีหน้าที่จัดทำแผนการบริหารจัดการความเสี่ยง ติดตามและรายงานผล กอ.รมน. ในฐานะหน่วยงานของรัฐจึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งนี้ นขต.กอ.รมน. และกอ.รมน. จังหวัด ไม่ต้องจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง จัดทำเฉพาะแบบการควบคุมภายในที่ กอ.รมน. กำหนด
7. การยื่นคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ หน่วยรับงบประมาณจะต้องพิจารณา หรือเขียนแผนงาน/โครงการ และรายละเอียดงบประมาณ อย่างไรให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล ?
ตอบ หน่วยรับงบประมาณจะต้องดำเนินการพิจารณาและทบทวน ดังนี้
1) พิจารณาลำดับความสำคัญของภารกิจตามความจำเป็นเร่งด่วน ความพร้อมในการดำเนินงาน กิจกรรมที่หน่วยดำเนินการต้องอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของหน่วย ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย และรวมถึงมีมติ ครม. หรือนโยบายรัฐบาลมอบหมายให้ดำเนินการ
2) ความครบถ้วน กิจกรรมที่หน่วยดำเนินการต้องอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของหน่วย และตอบสนองกับแผนในแต่ละระดับที่สูงขึ้นทุกกิจกรรม
3) ความเชื่อมโยง ผลสัมฤทธิ์ของแผนงาน/โครงการของหน่วย กับเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนย่อยของแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการให้บริการของหน่วยงาน ตอบสนองตัวชี้วัดของแผนในระดับสูงขึ้นไป ได้แก่ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฯ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ /เป้าหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งสามารถระบุความเชื่อมโยงไปสู่ยุทธศาสตร์ชาติฯ ในด้านที่เกี่ยวข้อง
4) ความสอดคล้อง ตัวชี้วัดของหน่วยงานต้องสามารถเป็นส่วนสนับสนุนการบรรลุค่าเป้าหมายตามตัวชี้วัด (Target) ของแผนในระดับที่สูงขึ้นไป ได้แก่ ตัวชี้วัดแผนแม่บท/แผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติในประเด็น/เป้าหมายที่เกี่ยวข้อง
5) ความเหมาะสม ผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงาน และตัวชี้วัดระดับต่างๆ ของหน่วยต้องมีความเป็นไปได้ สามารถดำเนินการและวัดผลได้จริงในทางปฏิบัติ รวมทั้งตัวชี้วัดเฉพาะประเด็นสำคัญที่ประกอบด้วยมิติ ด้านปริมาณ และมิติด้านคุณภาพ สามารถแสดงถึงผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับอย่างเป็นรูปธรรม
6) ความจำเป็น หน่วยงานควรพิจารณาผลผลิต/โครงการ/กิจกรรม ซึ่งมีความสำคัญสามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและหน่วยงานมีศักยภาพในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
8. หน่วยรับงบประมาณมีความต้องการจะขอย้ายโครงการ/รายการ จากแผนงานงบประมาณเดิม ?
ไปตั้งคำของบประมาณ ในแผนงานงบประมาณใหม่ ได้หรือไม่ และต้องทำอย่างไร
ตอบ สามารถดำเนินการได้ หน่วยรับงบประมาณต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นในการย้ายโครงการ/รายการดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลสำเร็จ ผลสัมฤทธิ์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณจากปีที่ผ่านมาด้วย เพราะเนื่องจากเป็นการดำเนินการโครงการ/รายการ ที่ดำเนินการต่อเนื่อง มิใช่โครงการ/รายการใหม่ ต้องมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์หน่วยงาน ตัวชี้วัดหน่วยงาน เป้าหมายการให้บริการ และตัวชี้วัดของแผนงานงบประมาณนั้นๆ โดยยึดตามกรอบภารกิจของหน่วยรับงบประมาณตามที่ได้รับมอบหมายเป็นสำคัญ
9. กิจกรรมหลักและกิจกรรมย่อย ในแผนงาน/โครงการ มีความแตกต่างกันอย่างไร ?
ตอบ กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนำส่งผลผลิต และเป็นกิจกรรมที่สัมพันธ์กับกลยุทธ์ของหน่วยรับงบประมาณ ส่วนกิจกรรมย่อย คือ กิจกรรมซึ่งเป็นข้อย่อยของกิจกรรมหลัก ใช้ในกรณีที่ต้องจำแนกกิจกรรมหลักออกเป็นข้อย่อยตามหน่วยปฏิบัติหรือลักษณะงานที่แตกต่างกัน ซึ่งงบประมาณของกิจกรรมย่อยจะรวมเข้ากับกิจกรรมหลักเต็มจำนวน
10. การปรับปรุงบัญชีในระบบ GFMIS เมื่อตรวจพบการบันทึกรายการรหัสค่าใช้จ่ายผิดพลาด จะต้องดำเนินการอย่างไร ?
ตอบ ให้หน่วยประสานแจ้งคลังจังหวัดที่เบิกจ่าย และทำหนังสืออให้คลังจังหวัดดำเนินการปรับปรุงบัญชีในระบบ GFMIS ต่อไป
11. การขอปรับปรุงบัญชีเกณฑ์คงค้าง และปิดบัญชี เมื่อสิ้นปีงบประมาณ ต้องดำเนินการอย่างไร ?
ตอบ ให้หน่วยประสานและมีหนังสือแจ้ง กง.สปง.กอ.รมน. ดำเนินการตรวจสอบและปรับปรุงบัญชี
12. การใช้หนี้เงินยืมต้องใช้เอกสาร/หลักฐานอะไรประกอบบ้าง ?
ตอบ เป็นไปตามหลักเกณฑ์การส่งชดใช้เงินยืม ซึ่งหน่วยสามารถเข้าไปดูได้ที่ หลักเกณฑ์ยืมเงินราชการและเงินทดรองราชการ และการส่งชดใช้เงินยืม